Table of Contents
นับวันคีย์บอร์ด Hall Effect หรือ Magnetic switch keyboard ก็ยิ่งงอกฟีเจอร์ใหม่ ๆ ให้เราใช้ หลายอันไม่ได้ใส่คำอธิบายมาชัด ๆ หนึ่งในนั้นคือ “ค่า Deadzone” ที่เข้ามาช่วยให้ Rapid Trigger ทำงานได้ดีขึ้น ทำให้อาการสวิตช์หลอนติดเองหายไป ซึ่งตามจริงมีอยู่ในคีย์บอร์ด HE แทบทุกรุ่น บางรุ่นก็ให้ผู้ใช้คัสตอมได้แต่บางรุ่นก็ไม่
Rapid Trigger คืออะไร
รีแคปสั้น ๆ Rapid Trigger เจ๋งยังไง ปกติสวิตช์คีย์บอร์ดจะมีระยะปุ่มว่าสามารถกดลงไปได้กี่มิลลิเมตร ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 4 mm และมี Actuation Point หรือระยะที่เรากดลงไปแล้วปุ่มถึงจะทำงาน คีย์บอร์ดเดิม ๆ จะตายตัวอยู่ที่ประมาณ 2 mm ง่าย ๆ คือเราต้องกดลงไป 2 mm ปุ่มถึงจะติดและต้องยกนิ้วขึ้นมา 2 mm ปุ่มถึงจะหยุดทำงาน
แต่ฟีเจอร์ Rapid Trigger ช่วยให้ระยะทำงานของปุ่มไม่ตายตัว สามารถกดลงไปเบา ๆ เพื่อให้ปุ่มทำงาน ยกนิ้วเบา ๆ ให้ปุ่มหยุด และกดย้ำลงไปอีกทีให้ปุ่มติดได้เลยโดยที่ไม่ต้องยกนิ้วจนสุดเหมือนแมคคานิคอลสวิตช์ ผลลัพธ์คือช่วยให้ควบคุมเกมได้แม่นยำมากขึ้น เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดคือแต่เดิมเรากดปุ่ม 1 ทีก็จะเดินได้ราว 1 เมตรแต่ Rapid Trigger ทำให้เราซอยเท้ายิบ ๆ กดเดินทีละ 0.1 เมตรแทนได้ เป็นต้น
Deadzone คืออะไร ทำงานยังไง
ผลข้างเคียงของ Rapid Trigger ที่ตอบสนองไวมาก ๆ ทำให้บางทีแค่ทำของตกใส่โต๊ะหรือเผลอโยกเยกนิ้วโดยไม่ตั้งใจ ปุ่มก็อาจจะหยุดทำงานทั้งที่ยังไม่ได้ยกนิ้วได้ ทำให้บางคนเข้าใจว่าสวิตช์เอ๋อเผลอก่นด่าว่าคีย์บอร์ดห่วยทั้งที่จริง ๆ มันทำงานถูกต้องแล้ว เพื่อป้องกันปัญหาและคำอาฆาตที่อาจเกิดขึ้นแบรนด์จึงใส่ค่า Bottom Deadzone เข้ามาป้องกันการยกนิ้วโดยไม่ตั้งใจ เช่น Wooting 60HE จะอยู่ที่ราว ๆ 0.25 mm จากก้นสวิตช์ นั่นหมายถึงหากเราเผลอยกนิ้วไม่เกิน 0.25 mm ปุ่มจะยังทำงานอยู่นั่นเอง
Wooting 60HE จะล็อกค่า Bottom Deadzone ไว้ตายตัว แต่อีกหลายแบรนด์ เช่น MelGeek Made68 มีให้ปรับตั้งแต่ 0-0.7 mm ขณะที่ Fire68 คีย์บอร์ดราคาคุ้มค่าจะปรับได้ตั้งแต่ 0-1.0 mm เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมี Press Deadzone ด้วย ซึ่งทำงานตรงกันข้ามก็คือเพื่อป้องกันการกดโดยไม่ตั้งใจนั่นเอง
5 Magnetic Switch Keyboard แนะนำ
1.) Wooting 60HE+
คีย์บอร์ด 60% แบรนด์ริเริ่มโดยเกมเมอร์ 3 คนจากเนเธอร์แลนด์ มาพร้อมสวิตช์ Lekker เป็นแบรนด์แรก ๆ ที่รุกตลาดคีย์บอร์ด HE จนเกิดกระแสไปทั่วโลก เสถียรมากมีฟีเจอร์จำเป็นครบประสิทธิภาพไว้ใจได้และนักแข่ง Esport ส่วนใหญ่เลือกใช้รุ่นนี้ แต่ในไทยยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายสามารถซื้อได้จากเว็บไซต์ wooting โดยตรง ซึ่งจะรอของนานหน่อย หรือซื้อจากร้านไทยที่สั่งซื้อมาขายรีเซลแต่ราคาจะค่อนข้างสูงถึงระดับหมื่นต้น ๆ
ราคา 6,251 บาท (ไม่รวมค่าส่งและภาษีนำเข้า)
2.) Glorious GMMK 3 HE
คีย์บอร์ดระดับไฮเอนด์จากแบรนด์ Glorious มีหลายไซซ์และหลายเวอร์ชันให้เลือก มีทั้งแบบเสียบสายและไร้สาย โดดเด่นด้วยดีไซน์หรูหราไม่เหมือนใคร มาในเคสอะลูมิเนียม Polling Rate สูงถึง 8000 Hz เป็นคีย์บอร์ด HE รุ่นแรกที่มีสวิตช์ Magnetic แบบ Tactile และ Clicky ให้เลือก (แบรนด์อื่นมีแค่ Linear) รวมถึงสามารถ Hot swap เปลี่ยนไปใช้สวิตช์แมคคานิคอลแบบ 3/5 Pin ได้อีกด้วย
ราคาเริ่มต้น 8,390.- (รับประกัน 2 ปี)
3.) Fire68
เป็นคีย์บอร์ด HE ราคาถูกแต่ประสิทธิภาพดีเกินราคาไปไกล มาในไซซ์ 65% มี 3 เวอร์ชันรุ่นเริ่มต้นสีดำใช้เคส Polycarbonate มีความโปร่งแสงแต่จะหาซื้อได้ยากแล้ว ที่แนะนำคือรุ่นกลางสีขาวใช้เคสพลาสติก ABS ส่วนรุ่นโปรจะเป็นเคสอะลูมิเนียมซึ่งราคาสูงกว่ารุ่นอื่น ๆ Fire68 จะเด่นด้าน Latency ที่ต่ำถึง 0.2 ms Polling Rate 8000 Hz ปรับ Rapid Trigger ได้กว้าง 0.04-4.0 mm และปรับได้ละเอียดทีละ 0.02 mm
ราคาเริ่มต้น 2,300.-
4.) MelGeek Made68
MelGeek Made68 เป็นคีย์บอร์ด HE อีกรุ่นที่ดีไซน์สวยมาก ๆ โดดเด่นด้วยไฟ Light Box อันใหญ่ด้านบนและการออกแบบลวดลายทั่วตัวคีย์บอร์ดที่ไม่มีใครเหมือนแน่นอน รุ่นเริ่มต้นสเปคจะอยู่ระดับมาตรฐานแต่รุ่น Pro จะอัปเกรดสเปคไปอีกขั้น ได้ Polling Rate 8000 Hz Latency ต่ำกว่าเดิมจาก 1 ms เป็น 0.125 ms รวมถึงดีไซน์ก็มีลูกเล่นมากขึ้น
ราคา 4,390.- (รับประกัน 1 ปี)
5.) Bridge75 HE
คีย์บอร์ด HE ดีไซน์สวยอีกตัว ใช้เคสอะลูมิเนียมทั้งตัว มี 4 สี เงิน, ขาว, ครีม และชมพู ตกแต่งมาในสไตล์เรียบหรูดูแพง มาพร้อม Polling Rate 8000 Hz ไม่มีไฟ RGB และรองรับการใช้งานผ่านสาย Type-C เท่านั้น
ราคาเริ่มต้น 4,790.- (รับประกัน 1 ปี)