9 Magnetic switch keyboard แนะนำ พร้อมวิธีเลือกซื้อ

Wooting 60HE เปิดศักราชความนิยม Magnetic switch keyboard หรือเรียกแบบอนุรักษ์ความเป็นไทยว่าคีย์บอร์ดสวิตช์แม่เหล็ก เกมเมอร์ต่างคว้ามาลองกันถ้วนหน้าเพราะว่านี่คือคีย์บอร์ดที่ตอบสนองดีสุดในยุคนี้ ใครตามไม่ทันว่ามันดียังไง ใช้แล้วเล่นเกมดีขึ้นจริงเหรอ เหมาะกับใคร บทความนี้มีคำตอบให้แบบถึงพริกถึงขิง ถ้าเลือกไม่ถูกเรามีเทียบสเปคให้ด้วย เอาให้มันรู้ไปเลยว่าตัวไหนอิสเดอะเบส


Mechanical กับ Magnetic switch keyboard ต่างกันยังไง

ก่อนจะไปเทียบสเปค Magnetic switch keyboard ผู้เขียนขอรีแคปสั้น ๆ ว่าคีย์บอร์ดแมคคานิคอลกับคีย์บอร์ดสวิตช์แม่เหล็กต่างกันยังไง สำหรับกลไกข้างในของสวิตช์แมคคานิคอลจะมีขาทองแดงสองอัน เมื่อเรากดปุ่มขาจะเลื่อนมาชนกันทำให้ไฟฟ้าครบวงจร จากนั้นจึงส่งข้อมูลไปบอกคอมพิวเตอร์ว่าเรากำลังกดปุ่มอะไร การทำงานของสวิตช์จึงคล้ายกับสวิตช์เปิดปิดไฟที่กดเพื่อเปิด (Active) ปล่อยเพื่อปิด (Reset)

แต่สวิตช์แม่เหล็กไม่ใช่แบบนั้น ด้วยความที่ข้างในสวิตช์จะมีแม่เหล็กและด้านใต้จะมีเซนเซอร์ไว้ตรวจจับสนามแม่เหล็ก ทำให้เมื่อกดปุ่มเซนเซอร์จะตรวจจับได้ละเอียดยิบว่าตอนนี้เรากดปุ่มลงไปกี่มิลลิเมตรแล้ว (ขณะที่แมคคานิคอลทำได้แค่ตรวจการกดหรือปล่อยปุ่มอย่างเดียว) ทำให้เราสามารถตั้งค่าระยะการกดของสวิตช์แม่เหล็กได้ว่าจะให้ Active ตอนกี่มิลลิเมตร (Actuation adjustment) และยังทำให้เกิดฟีเจอร์ Rapid trigger ที่ทำให้ควบคุมการเล่นเกมได้แม่นยำขึ้น


Rapid trigger คืออะไร

ซ้ายคีย์บอร์ดธรรมดา ขวาคีย์บอร์ด Rapid Trigger

คีย์บอร์ดแบบเดิม ๆ ระยะ Active และ Reset ปุ่มจะคงที่ ปุ่มจะติดก็ต่อเมื่อกดสุดปุ่มและหยุดทำงานเมื่อปล่อยนิ้วสุดปุ่มเช่นกัน ถ้ายังไม่เห็นภาพให้ลองนึกถึงเมื่อกด W ค้าง ตัวละครในเกมจะเดินหน้าและเมื่อปล่อยมือถึงจะหยุดเดิน กลับกันสวิตช์แม่เหล็กที่มาพร้อม Rapid trigger ไม่ได้มีระยะ Active และ Reset คงที่แบบนั้น แต่สามารถ Active และ Reset ได้ทันทีเมื่อกดหรือผ่อนเบา ๆ ทำให้การควบคุมตัวละครในเกมละเอียดมาก เหมาะกับเกมที่อาศัยความไวอย่าง FPS, Rhythm game หรือพวกบรรดาเกมต่อสู้เกมแข่งรถ เพราะจะทำให้ได้เปรียบกว่าคีย์บอร์ดทั่วไป เทียบแค่ตอนก้มเก็บอาวุธใน Apex Legend ก็จะเห็นได้ว่าคีย์บอร์ดสวิตช์แม่เหล็กจะเก็บของได้ไวกว่าอย่างเห็นได้ชัด


ใช้คีย์บอร์ดเกมมิ่งอยู่ควรอัปเกรดไหม

ถ้าคุณเป็นผู้เล่นเกม FPS, Rhythm game หรือเกมที่อาศัยความไว ความละเอียดในการควบคุมเป็นหลัก เราแนะนำอย่างยิ่งว่าคีย์บอร์ด Magnetic Switch จะเป็นที่ถูกใจแน่นอน แต่หากคุณเล่นแค่เกมแคชชวล หรือเน้นผจญภัยสายเนื้อเรื่องต่าง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องขยับมาใช้คีย์บอร์ดชนิดนี้


วิธีการเลือกคีย์บอร์ด Magnetic Switch เบื้องต้น

นอกจากดีไซน์ ไซซ์คีย์บอร์ด ฟีเจอร์เสริมและราคาที่ควรดูเบื้องต้นอยู่แล้ว วิธีการเทียบว่าคีย์บอร์ดรุ่นไหนดีกว่ากันให้ดูเจาะลึกไปที่สเปคหลัก ๆ อย่าง Actuation point ว่าเราสามารถตั้งค่าระยะการกดได้กว้างแค่ไหน เช่น อยากให้ปุ่มลั่นง่ายคีย์บอร์ดก็ควรรองรับค่าที่ต่ำมาก ๆ ปัจจุบันต่ำสุดอยู่ที่ 0.1mm และสูงสุดคือ 4.0mm รุ่นที่ทำได้ในลิสต์เราคือ Wooting 60HE, Apex Pro (2023) และ VXE ATK 68 นอกจากนี้ก็ให้ดูที่ Rapid Trigger Range ด้วยว่าเราจะตั้งค่าให้ Rapid Trigger ทำงานที่ระยะใดบ้าง ซึ่งมาตรฐานสูงสุดในปัจจุบันก็อยู่ที่ 0.1-4.0mm เช่นกัน นอกจากนี้ก็ดูที่ Dynamic Keystrokes ว่าปุ่มหนึ่งสามารถตั้งค่าได้หลายคำสั่งหรือไม่ ส่วนใหญ่จะรองรับที่ 1 ปุ่ม 2 คำสั่ง กดครึ่งหนึ่งเป็นคำสั่งเดิน กดสุดเป็นคำสั่งวิ่ง เป็นต้น แต่ก็มีบางรุ่นที่รองรับถึง 4 คำสั่ง และมีบางรุ่นที่ไม่รองรับฟีเจอร์นี้เลย ซึ่งถ้าต้องการใช้งานฟีเจอร์นี้ก็ควรเลือกรุ่นที่รองรับด้วยนั่นเอง

Dynamic Keystrokes

นอกจากนี้ยังมีพวกค่า Latency ที่แต่ละรุ่นให้มาไม่เท่ากัน แต่ยิ่งต่ำเท่าไหร่ยิ่งดีเพราะมันแปลว่าคีย์บอร์ดจะมีความหน่วงต่ำนั่นเอง อย่างไรก็ดี หลายแบรนด์มักไม่ระบุค่านี้มาให้ แต่ก็พอวางใจได้เพราะคีย์บอร์ดสวิตช์แม่เหล็กค่อนข้างมี Latency ต่ำกว่าคีย์บอร์ดธรรมดาอยู่แล้ว


9 Magnetic switch keyboard ที่เราแนะนำ

1.)Wooting 60HE

คีย์บอร์ด magnetic switch

คีย์บอร์ดสวิตช์แม่เหล็กตัวเทพที่จุดกระแส Rapid trigger ให้กับวงการ มาในไซซ์เล็กน่ารัก 60% พร้อมดีไซน์เท่ ๆ มีสายคล้องไนล่อนให้ถอดเปลี่ยนได้ตามสไตล์ที่ชอบ และปัจจุบันในด้านสเปคสำคัญ ๆ อย่างการปรับระยะการกด (Actuation point) กับปรับระยะ Rapid Trigger ก็ให้มาสุดแม็กซ์ 0.1-4.0mm ซึ่งบางแบรนด์ที่แพงกว่ายังให้มาไม่ถึงด้วยซ้ำ

จุดเด่น

  • มีสายคล้องไนล่อนสุดเท่
  • คีย์แคป PBT Double-shot ไฟลอด
  • รองรับ Hot-swap สวิตช์แม่เหล็ก
  • YouTube ของแบรนด์มีสอนการตั้งค่า การม็อดละเอียดยิบ

สเปค

  • ขนาด 60%
  • จำนวนปุ่ม 61 + 1 Knob
  • สวิตช์ Gateron x Lekker switch
  • การเชื่อมต่อ Type-C
  • Actuation point: 0.1-4.0mm
  • Rapid Trigger Range: 0.1-4.0mm
  • Dynamic Keystrokes: 1 ปุ่ม 4 คำสั่ง

ราคา 174.99$


2.) Akko Mod 007 7th

คีย์บอร์ดรุ่นลิมิเต็ดฉลองครบ 7 ปีแบรนด์ Akko ที่มาพร้อมดีไซน์ลายมาสคอตน่ารักจากแบรนด์ แม้สเปคจะแรงสู้ตัว Wooting ไม่ได้ แต่ตัวนี้โดดเด่นด้านสามารถ Hot-swap เปลี่ยนกลับไปเป็นสวิตช์แบบ 3 pin ได้ ที่สำคัญตั้งค่า 1 ปุ่ม 4 คำสั่งได้ด้วยนะ

จุดเด่น

  • เป็นรุ่นลิมิเต็ดหมดแล้วหมดเลย
  • โครงสร้าง Gasket mount
  • Hot-swap สวิตช์แม่เหล็กและสวิตช์ 3 pin ได้

สเปค

  • ขนาด 75%
  • จำนวนปุ่ม 82 + 1 Knob
  • สวิตช์ Akko Cream Yellow
  • การเชื่อมต่อ Type-C
  • Actuation point: 0.2-3.8mm
  • Rapid Trigger Range: 0.2-2.5mm
  • Dynamic Keystrokes: 1 ปุ่ม 4 คำสั่ง

ราคา 4,290฿ (รับประกัน 1 ปี)


3.) Akko Mod 007B PC

คีย์บอร์ดสวิตช์แม่เหล็กตัวใหม่จากแบรนด์ Akko ที่คราวนี้อัปเกรดให้กลายเป็นรุ่นไร้สาย Tri-mode เป็นที่เรียบร้อย โดยที่สเปคด้านอื่น ๆ ยังคงไว้เช่นเดิม

จุดเด่น

  • มีให้เลือก 2 ลายคือ Tokyo กับ Santorini
  • เชื่อมต่อไร้สาย Tri-Mode
  • แบตเตอรี่ 3600 mAh
  • โครงสร้าง Gasket mount
  • Hot-swap สวิตช์แม่เหล็กและสวิตช์ 3 pin ได้

สเปค

  • ขนาด 75%
  • จำนวนปุ่ม 82 + 1 Knob
  • สวิตช์ Akko Cream Yellow, Kailh Sakura Pink
  • การเชื่อมต่อไร้สาย Tri-Mode
  • แบตเตอรี่ 3600mAh
  • Actuation point: 0.2-3.8mm
  • Rapid Trigger Range: 0.2-2.5mm
  • Dynamic Keystrokes: 1 ปุ่ม 4 คำสั่ง

ราคา 4,590฿ (รับประกัน 1 ปี)


4.) Monsgeek M1 HE

ซีรีส์ M1 ในดวงใจใครหลายคนกลับมาพร้อมรุ่นรองรับสวิตช์แม่เหล็กเป็นที่เรียบร้อย ได้เป็นเคสอะลูที่มีฟีเจอร์จากสวิตช์ Akko Cream Yellow อย่างครบถ้วนตามประสาแบรนด์ลูก

จุดเด่น

  • เคสอะลูมิเนียมฟูลบอดี้
  • โครงสร้าง Gasket mount
  • คีย์แคป PBT Double-shot ไฟลอด (ฟอนต์ Side printed เท่มาก)
  • Hot-swap สวิตช์แม่เหล็กและสวิตช์ 3 pin ได้

สเปค

  • ขนาด 75%
  • จำนวนปุ่ม 82 + 1 Knob
  • สวิตช์ Akko Cream Yellow
  • การเชื่อมต่อ Type-C
  • Actuation point: 0.2-3.8mm
  • Rapid Trigger Range: 0.2-2.5mm
  • Dynamic Keystrokes: 1 ปุ่ม 4 คำสั่ง

ราคา 4,590฿ (รับประกัน 1 ปี)


5.) Polar 65

เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจหากใครไม่อยากรอพรีออเดอร์ Wooting สเปคให้มาใกล้เคียงกัน แต่ปัจจุบันจะยังไม่สามารถเลือกปิดใช้งาน Rapid trigger ได้ ใช้เคสอะลูสวยงาม มีมาตรฐานกันน้ำกันฝุ่น IP54

จุดเด่น

  • เคสบนอะลูมิเนียม เคสล่างพลาสติกขุ่น
  • คีย์แคป PBT Double-shot
  • กันน้ำกันฝุ่น IP54
  • รองรับ Hot-swap สวิตช์แม่เหล็ก

สเปค

  • ขนาด 65%
  • จำนวนปุ่ม 68
  • สวิตช์ Fuji Magnetic Switch
  • การเชื่อมต่อ Type-C
  • Actuation point: 0.1-3.8mm
  • Rapid Trigger Range: 0.1-3.8mm
  • Dynamic Keystrokes: ไม่รองรับ

ราคา 6,790฿ (รับประกัน 1 ปี)


6.) Apex Pro (2023)

อีกหนึ่งคีย์บอร์ดรุ่นท็อปจากแบรนด์ SteelSeries ที่นับเป็นคีย์บอร์ดสวิตช์แม่เหล็กตัวแรก ๆ ของตลาด แต่เพิ่งได้รับอัปเกรดให้รองรับ Rapid trigger ไปเมื่อช่วงปี 2023 ในด้านสเปคนับว่าสู้ Wooting ได้ทุกด้าน มาในไซซ์ 100% จะใช้ทำงานหรือใช้เล่นเกมก็เหมาะไปหมด ได้เคสอะลู มีจอ OLED แถมมีที่รองวางพักข้อมือให้ด้วย

จุดเด่น

  • เคสบนอะลูมิเนียม เคสล่างพลาสติ
  • ใต้เคสมีร่องเก็บสายไฟ
  • คีย์แคปไฟลอด มีฟอนต์ไทย
  • มีจอ OLED
  • มีที่รองข้อมือ
  • ไม่รองรับ Hot-swap

สเปค

  • ขนาด 100%
  • จำนวนปุ่ม 104 + 1 Knob
  • สวิตช์ OmniPoint 2.0
  • การเชื่อมต่อ Type-C
  • Actuation point: 0.1-4.0mm
  • Rapid Trigger Range: 0.1-4.0mm
  • Dynamic Keystrokes: 1 ปุ่ม 2 คำสั่ง

ราคา 6,990฿ (รับประกัน 1 ปี)


7.) DrunkDeer A75

คีย์บอร์ดฟีลลิ่งดีมีสเปคใกล้เคียง Wooting แต่ปุ่มเยอะกว่า แถมราคาน่ารักมีตัวแทนนำเข้ามาขายในไทยเรียบร้อย รองรับการปรับแต่งผ่านเว็บไซต์ไม่ต้องลงโปรแกรมให้เสียเวลา แต่ปัจจุบันโปรแกรมยังอยู่ระหว่างพัฒนาทำให้บางฟีเจอร์พื้นฐานอาจยังไม่มีให้ใช้งานนะ ตัวนี้มีมาตรฐานกันน้ำกันฝุ่น IP66 ด้วย

จุดเด่น

  • รุ่นสีขาวมีคีย์แคปไฟลอด
  • กันน้ำกันฝุ่น IP66
  • รองรับ Hot-swap สวิตช์แม่เหล็ก

สเปค

  • ขนาด 75%
  • จำนวนปุ่ม 82 + 1 Knob
  • สวิตช์ Raesha magnetic switch
  • การเชื่อมต่อ Type-C
  • Actuation point: 0.2-3.8mm
  • Rapid Trigger Range: 0.1-3.6mm
  • Dynamic Keystrokes: ไม่รองรับ

ราคา 5,390฿


8.) Corsair K70 MAX

คีย์บอร์ดฟูลไซซ์จากแบรนด์เรือใบ โดดเด่นด้าน Polling rate ที่อัดมาถึง 8000 Hz ทำให้คีย์บอร์ดมีความหน่วงต่ำมาก ๆ ถึง 0.125ms ซึ่งน่าจะต่ำที่สุดในบรรดาคีย์บอร์ด 9 อันดับของบทความนี้แล้ว มาพร้อมเคสอะลูมิเนียมและที่รองวางพักข้อมือให้ด้วย

จุดเด่น

  • เคสบนอะลูมิเนียม เคสล่างพลาสติก
  • คีย์แคป PBT Double-shot ไฟลอด
  • Polling rate 8000 Hz (Latency 0.125ms)
  • มีที่รองข้อมือ
  • ไม่รองรับ Hot-swap

สเปค

  • ขนาด 100%
  • จำนวนปุ่ม 104 + 1Knob (มีปุ่มควบคุมมีเดีย)
  • สวิตช์ Corsair MGX
  • Polling rate 8000 Hz
  • การเชื่อมต่อ Type-C
  • Actuation point: 0.4-3.6mm
  • Rapid Trigger Range: ไม่พบข้อมูล
  • Dynamic Keystrokes: 1 ปุ่ม 2 คำสั่ง

ราคา 8,990฿ (รับประกัน 2 ปี)


9.) VXE ATK 68

อีกหนึ่งตัวเล็กสเปคแรงเคสอะลูมิเนียมที่สู้กับ Wooting ได้เลย แถมยังโดดเด่นกว่าด้านที่รองรับการตั้งค่า 1 ปุ่ม 4 คำสั่งอีกด้วย แต่ตัวนี้จะมีข้อด้อยตรงที่ค่อนข้างเซนซิทีฟมากหากวางอยู่ใกล้แม่เหล็กขณะที่รุ่นอื่น ๆ ไม่เป็น ทีมงานเคยลองเอาแท่งไฟแบบแม่เหล็กมาวางข้าง ๆ ทำปุ่มลั่นเองประหนึ่งแมวแอบพิมพ์ซะอย่างนั้น

จุดเด่น

  • เคสบนอะลูมิเนียม เคสล่างพลาสติก
  • รองรับ Hot-swap สวิตช์แม่เหล็ก
  • คีย์แคป PBT ไฟลอด มีฟอนต์ไทย
  • ค่อนข้างเซนซิทีฟ ห้ามเอาแม่เหล็กมาวางใกล้

สเปค

  • ขนาด 65%
  • จำนวนปุ่ม 68
  • สวิตช์ Gateron Magnetic Gen 2
  • การเชื่อมต่อ Type-C
  • Actuation point: 0.1-4.0mm
  • Rapid Trigger Range: 0.1-4.0mm
  • Dynamic Keystrokes: 1 ปุ่ม 4 คำสั่ง

ราคา 4,990฿ (รับประกัน 1 ปี)


Infographic เปรียบเทียบสเปค

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img