วิธีดูสเปคสวิตช์คีย์บอร์ดแมคคานิคอล

หนึ่งในสิ่งที่ทุกคนต้องพิจารณาก่อนซื้อคีย์บอร์ดสักตัวคือสวิตช์ พื้นฐานเราก็มักจะดูแค่ว่ามันเป็นประเภท Linear, Tactile หรือ Clicky ใครซีเรียสเรื่องเสียงหน่อยก็จะเปิดดูคลิปรีวิวฟังซาวด์เทสเสียงพิมพ์ แต่ในด้านของฟิลลิ่ง แรงต้าน ระยะการกดว่าตื้นลึกแค่ไหนอาจรู้ได้จากการลองจับของจริง แต่บางครั้งหน้าร้านก็อาจจะอยู่ไกล หรือบางรุ่นก็มีขายแค่ออนไลน์เท่านั้น บทความนี้ผู้เขียนจึงจะมาอธิบายวิธีดูสเปคสวิตช์แมคคานิคอลคีย์บอร์ด เพื่อให้ทุกคนเลือกซื้อได้ตรงใจมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องจับของจริงก่อน รวมถึงจะได้ดูคลิปรีวิวของเราได้เข้าใจมากขึ้นด้วย

ประเภทของ Mechanical switch

ปูพื้นฐานสั้น ๆ เรื่องประเภทสวิตช์คีย์บอร์ดกันก่อน โดยจะมีทั้งหมด 3 ประเภทได้แก่ Linear, Tactile และ Clicky โดยแต่ละยี่ห้ออาจมีชื่อเรียกรุ่นแตกต่างกันไป เช่น สวิตช์ชานม, ชาไทย หรือบางครั้งก็เรียกแทนด้วยสี เช่น Red, Blue, Brown แต่ไม่ว่าจะชื่ออะไรก็จะจำแนกออกมาเป็นทั้ง 3 ประเภทนี้ได้

  • Linear สวิตช์จังหวะเดียว แรงต้านต่ำ (มักจะ)เสียงเงียบ
  • Tactile สวิตช์ 2 จังหวะ แรงต้านสูง เสียงดังปานกลาง
  • Clicky สวิตช์ 2 จังหวะ แรงต้านสูง เสียงดังมาก

อ่านเพิ่มเติม สวิตช์ Keyboard 3 ประเภท มีอะไรบ้าง?


วิธีดูสเปคสวิตช์คีย์บอร์ด

สวิตช์แต่ละตัวจะมีศัพท์เฉพาะที่เอาไว้บอกพวกระยะการกด ระยะ Active น้ำหนักการกด รวมถึงความทนทานและอื่น ๆ โดยแต่ละคำมีความหมายดังนี้

ระยะการทำงานของสวิตช์ (หน่วยเป็นมิลลิเมตร)

  • Travel หรือ Total travel คือระยะที่สามารถกดสวิตช์จนสุด
  • Pre-travel คือระยะการกดก่อนจะถึงจุดที่สวิตช์ทำงาน
  • Actuation point หรือ Operating point คือระยะที่สวิตช์เริ่มทำงาน
  • Reset point คือระยะที่สวิตช์หยุดทำงานเมื่อเด้งคืนตัว
  • Pressure point หรือ Tactile point คือจุดที่กดแล้วมีความ Tactile (มีแค่ใน Clicky และ Tactile)

แรงที่ใช้ในการกดสวิตช์ (หน่วยเป็น Gram force หรือ gf)

  • Preload คือแรงขั้นต่ำที่ต้องใช้กดเพื่อให้ปุ่มเริ่มขยับ
  • Actuation force หรือ Operating force คือแรงที่ใช้กดสวิตช์จนถึงจุดที่สวิตช์ทำงาน
  • Bottom-out force หรือ End force คือแรงที่ใช้กดสวิตช์ลงไปถึงความลึกสูงสุด

คำศัพท์อื่น ๆ

  • Spring คือค่าความยาวของสปริง (มิลลิเมตร) ถ้าเป็นสปริง 2 ชั้นจะมีคำว่า Dual stage หรือ Double spring
  • Lifespan หรือ Durability คือความทนทานสวิตช์ มีหน่วยเป็นครั้ง (Keystrokes)
  • Force travel diagram คือกราฟบอกสเปคระยะและแรงการกดสวิตช์

ตัวอย่างวิธีดูสเปคสวิตช์คีย์บอร์ด

วิธีดูสเปคสวิตช์คีย์บอร์ด

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นผู้เขียนจะยกตัวอย่างวิธีดูสเปคจาก Force travel diagram โดยหยิบกราฟมาจากสวิตช์รุ่น NovelKeys Blueberry (Tactile) แกน X (แนวตั้ง) จะหมายถึงแรงที่ใช้กด ส่วนแกน Y (แนวนอน) คือระยะการกด และกราฟเส้นบนเป็นค่าตอนเรากดสวิตช์ลงไป ส่วนกราฟเส้นล่างจะเป็นค่าตอนสวิตช์เด้งคืนตัว โดยสามารถอ่านกราฟโดยประมาณ (อาจคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย) ได้ว่าสวิตช์รุ่นนี้

  • ต้องใช้แรง 70 gf กดลงไป 1.4 มม. ถึงจะเริ่มมีความ Tactile (จังหวะที่ 1 แรงต้านเยอะ)
  • ต้องใช้แรง 60 gf กดลงไป 3.1 มม. สวิตช์จึงจะทำงาน (จังหวะที่ 2 แรงต้านน้อยลง)
  • ต้องใช้แรง 80 gf จึงจะกดปุ่มถึงความลึกสูงสุดที่ 4 มม.
  • ต้องยกนิ้วจนถึงระยะ 3 มม. ปุ่มจึงจะหยุดทำงาน

ประโยชน์เมื่อเราดูสเปคเป็น

การอ่านสเปคสวิตช์แมคคานิคอลคีย์บอร์ดเป็นจะมีประโยชน์เมื่อเราต้องการเปรียบเทียบระหว่างสวิตช์ที่เราใช้อยู่กับสวิตช์ที่เราวางแผนที่จะซื้อ ว่าแตกต่างมากน้อยแค่ไหน บางคนอาจเจอปัญหาสวิตช์พังบางปุ่มแล้วต้องการซื้อสวิตช์ใหม่มาเปลี่ยนแต่หาซื้อตัวเดิมไม่ได้ ก็สามารถหารุ่นอื่นฟิลลิ่งเดิมมาใช้แทนได้ เช่น Gateron EF Dopamine Blue จะสเปคใกล้เคียง HMX Violet มาก หรือบางครั้งเราใช้สวิตช์ที่แรงต้านเยอะแล้วอยากเปลี่ยนให้แรงต้านน้อยลง ก็ให้ดูค่า Preload, Actuation force และ Bottom-out force ที่ต่ำกว่าเดิม เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก dygma.com, rkgamingstore.com

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img