คลังคำศัพท์คีย์บอร์ด HE
มีรุ่นใหม่ออกมาให้พรึ่บจนเรียกได้ว่า 2024 เป็นปีแห่ง HE Keyboard เลยก็ว่าได้ แต่หลายฟีเจอร์ก็นับว่าใหม่มาก บทความนี้จึงมารวบรวมคำศัพท์ Magnetic Switch Keyboard สำคัญ ๆ พร้อมอธิบายหลักการทำงานของแต่ละฟีเจอร์ ไม่ว่าจะ Actuation Point, Continuous Rapid Trigger, Snap Tap, Deadzone, DKS และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ละอย่างคืออะไรมาไขคำตอบไปพร้อมกัน
Hall Effect Keyboard
Hall Effect คือหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกค้นพบมาตั้งแต่ปี 1981 โดยเอ็ดวิน ฮอลล์ (Edwin Hall) พบว่าสามารถใช้กระแสไฟฟ้าและแม่เหล็กในการตรวจจับความเคลื่อนไหวของกลไกได้ สามารถประยุกต์ใช้วัดรอบเครื่องยนต์ วัดความเร็วของล้อ ฯลฯ ในวงการเกมมิ่งเกียร์ก็นำมาตรวจจับการขยับจอยสติ๊ก ช่วยให้การควบคุมแม่นยำขึ้น ทั้งยังสึกหรอยากเพราะไม่มีชิ้นส่วนสัมผัสกันแบบระบบเก่า แน่นอนว่าคีย์บอร์ด HE ก็นำนวัตกรรมนี้มาทำสวิตช์ด้วย จึงเรียกว่า Hall Effect Keyboard หรือ Magnetic Switch Keyboard นั่นเอง
Actuation point (ระยะ Active และ Reset)
Actuation point คือระยะที่สวิตช์จะเริ่มทำงาน (Active) และยุติการทำงาน (Reset) มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร เช่นเราต้องกดลงไป 2 mm เพื่อให้ปุ่มติดและต้องยกนิ้วให้พ้นระยะ 2 mm เดิมอีกครั้งเพื่อให้ปุ่มหยุด ซึ่งแมคคานิคอลคีย์บอร์ดจะมีค่า Actuation point ตายตัว แต่สำหรับคีย์บอร์ด Magnetic Switch จะสามารถคัสตอมค่านี้ได้อิสระ ส่วนใหญ่เลือกได้ตั้งแต่ 0.1-4.0 mm หากเล่นเกมต้องการการตอบสนองไวก็อาจตั้งไว้สัก 1 mm (ตั้งตื้นกว่านี้อาจควบคุมยาก) แต่ถ้าเน้นพิมพ์งานก็อาจตั้งเป็น 1.5-2.0 mm ก็จะเข้ามือกว่า และสามารถตั้งระยะ Active และ Reset เป็นคนละค่ากันได้ด้วย
Rapid Trigger
แม้ว่าการตั้ง Actuation point จะดูล้ำ แต่ยังมีสิ่งที่ล้ำกว่านั่นคือ Rapid Trigger ที่เข้ามาช่วยให้การควบคุมเกมละเอียดมากขึ้น จากเดิมที่ปุ่มจะ Active และ Reset ตามระยะตายตัวที่ตั้งเอาไว้ เปลี่ยนเป็นสามารถ Active และ Reset ได้ทุกระยะของสวิตช์เพียงแค่แตะเบา ๆ ปุ่มก็ติด ผ่อนเบา ๆ ปุ่มก็หยุดโดยไม่จำเป็นต้องยกนิ้วจนสุดอีกต่อไป ตั้งค่าได้ว่าต้องการกดลงไปกี่ mm เพื่อ Active และยกนิ้วกี่ mm เพื่อ Reset โดยไม่ต้องสนค่า Actuation point เดิมที่ตั้งไว้ (แต่ระยะ Active เดิมยังมีผลบางอย่าง จะอธิบายในหัวข้อถัดไป) ผลคือเราบังคับตัวละครในเกมได้แม่นยำขึ้น เปรียบเทียบให้เห็นภาพ เช่น คีย์บอร์ดเดิม ๆ เรากดปุ่ม 1 ทีเดินได้ 1 เมตร แต่ Rapid Trigger จะทำให้เราเดินทีละ 0.1 เมตรได้
Continuous Rapid Trigger
อย่างที่เกริ่นไปในหัวข้อก่อนว่าแม้จะเปิดใช้ Rapid Trigger แต่ระยะ Active เดิมยังคงส่งผลบางอย่าง นั่นก็คือ RT จะทำงานก็ต่อเมื่อเรากดลงไปเลยระยะ Active เดิมที่ตั้งไว้แล้วเท่านั้น เช่น สวิตช์มีระยะทั้งหมด (Total Travel) 4 mm แล้วเราตั้ง Active ไว้ที่ 1.5 mm ช่วงตั้งแต่ 0-1.5 mm จะกลายเป็นเหมือน Dead zone และ RT จะทำงานในช่วง 1.6-4.0 mm เท่านั้น แต่หากเปิดใช้งาน Continuous Rapid Trigger เมื่อเรากดปุ่มลงไประยะ Active จะยังทำงานในจังหวะกดครั้งแรก จากนั้นจะยกเลิกการทำงานชั่วคราว และ RT จะเปลี่ยนมาทำงานเต็มพิกัด 0.1-4.0 mm ไปจนกว่าเราจะปล่อยมือจนสุดอีกครั้ง ระยะ Active จึงจะกลับมามีผลอีกรอบ แบบนี้วนไปเรื่อย ๆ
สรุปลำดับการทำงาน Continuous RT
- กดปุ่ม ระยะ Active ทำงานที่ 1.5 mm
- RT เริ่มทำงานที่ 1.6-4.0 mm
- ระยะ Active ถูกยกเลิกชั่วคราว
- RT ขยายมาทำงานที่ 0.1-4.0 mm
- ปล่อยนิ้วจนสุด (0.0 mm)
- วนกลับไปขั้นตอนที่ 1
Deadzone
เนื่องจาก Rapid Trigger ตอบสนองไวมาก ๆ ทำให้บางทีแค่ทำของตกใส่โต๊ะหรือเผลอโยกเยกนิ้วโดยไม่ตั้งใจ ปุ่มก็อาจจะหยุดทำงานทั้งที่ยังไม่ได้ยกนิ้วได้ ทำให้บางคนเข้าใจว่าสวิตช์เอ๋อเผลอก่นด่าว่าคีย์บอร์ดห่วยทั้งที่จริง ๆ มันทำงานถูกต้องแล้ว เพื่อป้องกันปัญหาและคำอาฆาตที่อาจเกิดขึ้นแบรนด์จึงใส่ค่า Bottom Deadzone เข้ามาป้องกันการยกนิ้วโดยไม่ตั้งใจ เช่น Wooting 60HE จะอยู่ที่ราว ๆ 0.25 mm จากก้นสวิตช์ นั่นหมายถึงหากเราเผลอยกนิ้วไม่เกิน 0.25 mm ปุ่มจะยังทำงานอยู่นั่นเอง
Wooting 60HE จะล็อกค่า Bottom Deadzone ไว้ตายตัว แต่อีกหลายแบรนด์ เช่น MelGeek Made68 มีให้ปรับตั้งแต่ 0-0.7 mm ขณะที่ Fire68 จะปรับได้ตั้งแต่ 0-1.0 mm เลยทีเดียว นอกจากนี้บางรุ่นยังมี Press Dead zone ด้วย ซึ่งทำงานตรงกันข้ามเพื่อป้องกันการกดโดยไม่ตั้งใจแทน ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ต่างอะไรกับการตั้งระยะ Active และเปิด RT นั่นเอง แนะนำว่าไม่ควรปิดใช้งาน Bottom Deadzone เพราะเราเคยทดสอบแล้วว่ามันทำให้การควบคุมแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด
Super Key หรือ Advance Key
Super Key หรือ Advance Key เป็นคำที่มักใช้เรียกฟีเจอร์พิเศษของคีย์บอร์ด Magnetic Switch Keyboard ซึ่งบางฟีเจอร์จะค่อนข้างเฉพาะทางมาก ๆ ไม่ได้ใช้ในวงกว้าง
- DKS (Dynamic Keystroke) คือฟีเจอร์ 1 ปุ่ม 4 คำสั่ง สามารถตั้งได้ว่าให้กดครึ่งหนึ่งเป็นคำสั่งหนึ่ง กดสุดเป็นอีกคำสั่งหนึ่ง ผ่อนครึ่งหนึ่งเป็นคำสั่งหนึ่ง และผ่อนจนสุดเป็นอีกคำสั่งหนึ่ง มักจะนำมาประยุกต์ใช้เป็นการกดครึ่งหนึ่งเพื่อเดิน กดจนสุดเพื่อวิ่ง
- Mod Tap เมื่อเรากดปุ่มไว ๆ จะเป็นคำสั่งหนึ่ง กดค้างจะเป็นอีกคำสั่งหนึ่ง
- Toggle Key (TGL) เมื่อกดปุ่มค้างแล้วปล่อยมือแล้วปุ่มจะกดซ้ำย้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะกดปุ่มอีกทีเพื่อหยุด
- Snap Tap ปกติแล้วเมื่อเรากดปุ่มทิศทางตรงข้ามกัน เช่น กด W เดินหน้าและกด S ถอยหลังพร้อมกันตัวละครในเกมจะหยุด แต่หากเปิดใช้งาน Snap Tap คีย์บอร์ดจะให้ความสำคัญกับปุ่มหลังสุดที่กด ทำให้แม้จะกด W แล้วกด S ตามทีหลังโดยไม่ปล่อยปุ่ม W ตัวละครจะไม่หยุดนิ่งแต่จะเดินถอยหลังแทน ฟีเจอร์นี้ช่วยให้สามารถทำ Jiggle peak กดซ้ายขวา ๆ รัว ๆ เพื่อหลอกล่อศัตรูได้อย่างรวดเร็วมาก ๆ ช่วยให้ได้เปรียบผู้เล่นอื่นอย่างเห็นได้ชัดจนบางเกม เช่น CS2 ถึงกับแบนฟีเจอร์นี้ไปเป็นที่เรียบร้อย
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก steelseries.com, akkogear.eu