วิธีการลูปสวิตช์ 7 ขั้นตอนแบบฉบับจับมือทำ

หนึ่งในสิ่งที่หลายคนหลังตบเท้าเข้าร่วมวงการคัสตอมคีย์บอร์ดต้องเคยได้ยิน หรืออาจพูดได้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องรู้หากอยากปรับแต่งคีย์บอร์ดสุดรักให้เป็นดังใจ ก็คือวิธีการลูปสวิตช์ (Lube Switch) หรือการใช้สารหล่อลื่นช่วยให้การกดปุ่มเงียบ นุ่มนวล และลื่นไหลกว่าเก่า อย่างไรก็ดี ไม่ใช่สวิตช์ทุกประเภทที่จะเหมาะสำหรับการลูป บทความนี้จะให้คำตอบอย่างละเอียดว่าสวิตซ์แบบไหนควรลูป มีขั้นตอนยังไง ใช้อุปกรณ์อะไรบ้างแบบฉบับจับมือทำ มือใหม่อ่านจบต้องทำเป็น!


Lube Switch คีย์บอร์ดคืออะไร

การลูปสวิตช์คือการใช้สารหล่อลื่น (Lubricants) ประเภทน้ำมันหรือจาระบีป้ายลงไปด้านในชิ้นส่วนของสวิตช์บริเวณที่มีการขยับ สัมผัส หรือเสียดสีกันเพื่อหวังผลให้การกดปุ่มบนคีย์บอร์ดมีความนุ่มและเงียบขึ้น แน่นอนว่าเมื่อเราต้องการความเงียบ สวิตช์ที่เหมาะจะนำมาลูปจึงเหลือเพียง 2 ประเภทคือ Tactile และ Linear ที่เน้นความเงียบเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเท่านั้น ยกเว้นแค่เพียง Clicky switch ของเหล่าผู้หลงใหลการพิมพ์เอามัน ชอบเสียงคลิกดังลั่น ถ้าจะไปลูปจนเสียงเงียบสงัดก็ดูกระไรอยู่

อนึ่ง ตามจริง Lube ต้องสะกดภาษาไทยด้วย บ. เป็น “ลูบ” แต่เนื่องจากไม่เป็นที่นิยม ผู้เขียนจึงขออนุญาตใช้ “ลูป” ตามเสียงส่วนใหญ่ด้วยประการฉะนี้


อุปกรณ์หลัก ๆ ที่ใช้ในการลูป (เรียงจากซ้ายไปขวา)

  1. ที่จับ Stem | พิกัดสั่งซื้อ
  2. พู่กัน (สามารถใช้พู่กันธรรมดาจากร้านเครื่องเขียนได้เลย)
  3. ที่คีบปลายแหลม | พิกัดสั่งซื้อ
  4. ที่ดึงคีย์แคปและสวิตช์ | พิกัดสั่งซื้อ
  5. สารหล่อลื่น (ซ้ายสำหรับลูปสปริง ขวาสำหรับลูปส่วนอื่น ๆ) | พิกัดสั่งซื้อ
  6. ที่เปิดสวิตช์(Switch Opener) | พิกัดสั่งซื้อ
  7. สวิตช์คีย์บอร์ด

วิธีการลูปสวิตช์

เนื่องจากเราต้องแกะคีย์แคปและนำสวิตช์ทั้งหมดบนคีย์บอร์ดออกมาทาสารหล่อลื่น นั่นหมายถึงยิ่งคีย์บอร์ดมีปุ่มเยอะมากแค่ไหน ก็ยิ่งต้องใช้เวลามากขึ้นเท่านั้น เช่น คีย์บอร์ด 67 ปุ่ม หากลูปสวิตช์ละ 1 นาที อย่างน้อยก็ต้องใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง 7 นาทีจึงจะเสร็จ (ทำจริงนานกว่านี้แน่นอน) ฉะนั้น นี่เป็นงานที่ต้องอาศัยเวลาและความอดทน ค่อย ๆ ทำอย่าใจร้อน เพราะถ้าทาสารหล่อลื่นพลาด เช่น ทามากเกินไปก็อาจทำให้เกิดเสียงแจ๊ะ ๆ (!?) อันไม่พึงประสงค์ได้

ทั้งนี้ บางขั้นตอนอาจเป็นเทคนิคเฉพาะบุคคลที่นักคัสตอมบางท่านอาจทำหรือไม่ทำก็ได้ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์การสัมผัสที่ชื่นชอบ


1.ถอดคีย์แคปและสวิตช์ออกจากคีย์บอร์ด

เราสามารถใช้มือเปล่าหรือที่ดึงคีย์แคปเพื่อถอดคีย์แคปออกมาได้อย่างง่ายดาย แต่ในขั้นตอนถอดสวิตช์นั้นจำเป็นต้องใช้ที่ดึงสวิตช์ (ในภาพคือที่ดึงคีย์แคปและสวิตช์แบบ 2in1) โดยให้ใช้ที่ดึงจับไปบริเวณล็อกด้านบนและล่าง ออกแรงบีบเล็กน้อย จากนั้นดึงสวิตช์ขึ้นตรง ๆ

ข้อควรระวังก็คือ ตอนใช้ที่ดึงดึงคีย์แคปให้ค่อย ๆ ทำเบา ๆ เพราะหลายคนทำกระเด็นร่วงมานักต่อนัก


2.แกะสวิตช์โดยใช้ที่เปิดสวิตช์

แม้จะสามารถแกะฝาสวิตช์ออกได้ด้วยมือเปล่าแต่ผู้เขียนไม่แนะนำอย่างยิ่งเพราะเสี่ยงจะทำให้ขาล็อกหักได้ จึงควรใช้ที่เปิดสวิตช์ตามภาพประกอบ โดยให้ดูว่าสวิตช์มีขาล็อกแบบสี่ขาหรือสองขาเพื่อจะได้เลือกใช้ที่เปิดสวิตช์ได้ถูกประเภท (ซึ่งปกติที่เปิดทั้งสองแบบจะวางขายแบบแพ็คคู่อยู่แล้ว) จากนั้นวางสวิตช์ลงบนที่เปิด และกดจากข้างบนลงไปตรง ๆ เพื่อง้างขาล็อกสวิตช์ออก จากนั้นหยิบสวิตช์ขึ้นมาและใช้มือเปล่าแงะกรอบด้านบนออก นำแกนตรงกลาง (Stem) และสปริงออกมาวางพักไว้ก่อน

อนึ่ง สามารถวางกรอบล่างไว้บนที่เปิดสวิตช์เพื่อเริ่มขั้นตอนการลูปได้เลย หรือจะหยิบออกมาลูปข้างนอกก็ได้ ยิ่งกว่านั้นยังมีอุปกรณ์ช่วยให้การลูปไวและสะดวกสบายมากขึ้นนั่นก็คือ Lube station ซึ่งเป็นฐานที่ช่วยให้เราสามารถวาง Bottom Housing ทีละมาก ๆ ไว้ในล็อกเรียงต่อกัน ทำให้เราลูปกรอบด้านล่างสวิตช์ได้ทั้งหมดในคราวเดียว ไม่ต้องมาหยิบลูปทีละชิ้นซึ่งใช้เวลาเยอะกว่ามาก


3.ลูปกรอบด้านล่างของสวิตช์ (Bottom Housing)

สิ่งแรกที่เราจะเริ่มลูปคือกรอบด้านล่าง หรือศัพท์วงการจะเรียกว่า Bottom Housing โดยให้นำพู่กันไปจุ่มสารหล่อลื่นแบบบาง ๆ ไม่ชุ่ม ไม่จับตัวเป็นก้อน จากนั้นเริ่มละเลงเบา ๆ ไปที่ตำแหน่งดังต่อไปนี้

  • ร่อง Slider ทั้งสองฝั่งที่ Stem จะสัมผัสขึ้นลงเวลาเรากดปุ่ม
  • รอบแกนใส่สปริง

4.ลูปสปริง

การลูปสปริงมีสองวิธี คือใช้ที่คีบปลายแหลมหยิบสปริงขึ้นมาทีละอันและป้ายสารหล่อลื่นด้านบน, ด้านล่าง และตรงกลางของสปริงตามลำดับ แต่เนื่องจากมันค่อนข้างใช้เวลามาก หลายคนจึงนิยมแกะสวิตช์ทุกอัน เอาสปริงทั้งหมดออกมาใส่ถุงชิปล็อกเล็ก ๆ จากนั้นหยดน้ำยาลงไปและเขย่าให้เข้าที่ก็เป็นอันเสร็จ (น้ำยาที่ใช้ลูปสปริงจะเป็นคนละประเภทกับที่ใช้ลูปส่วนอื่น)


5.ลูป Stem

ตำแหน่งที่หลายคนเห็นตรงกันว่าต้องลูปคือส่วนของ Slider หรือสันที่นูนขึ้นมาทั้งสองฝั่ง แต่ตำแหน่งที่บางคนเลือกจะลูปบ้างไม่ลูปบ้างคือด้านข้างสองฝั่งที่เหลือของ Stem หรือบางรายอาจเลือกลูปเฉพาะฝั่งตรงข้ามกับขาสวิตช์ (ขาทองแดง) เท่านั้น เพราะการลูปบริเวณนี้มักทำให้ฟิลลิ่งการกดเปลี่ยน อาจลื่นเกินกว่าที่ต้องการ อย่างไรก็ดี หากอยากแน่ใจว่าควรลูปหรือไม่ผู้เขียนแนะนำให้ทดลองใช้ทั้งสวิตช์ที่ลูปและไม่ลูปบริเวณนั้นว่าเราชอบฟิลลิ่งการพิมพ์แบบไหนมากกว่ากัน

อีกส่วนที่หลายคนเลือกจะไม่ลูปเลย หรือลูปแบบบางมาก ๆ ก็คือแกนกลางที่ใส่สปริงของ Stem เพราะมีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิดเสียงน้ำดังแจ๊ะ ๆ ชวนรำคาญหูเมื่อใช้งานได้ ต้องเสียเวลามาเช็ดมาล้างสารหล่อลื่นออกแล้วลูปใหม่อีก


6.ลูปกรอบด้านบนของสวิตช์ (Top Housing)

กรอบด้านบนหรือ Top Housing เป็นส่วนที่บางคนอาจจะลูปหรือไม่ลูปก็ได้ แต่หากลูปก็มักจะช่วยได้ลดเสียงกดปุ่มลงได้อีกประมาณหนึ่ง โดยให้ป้ายสารหล่อลื่นไปบริเวณร่อง Slider ที่จะสัมผัสกับตัว Stem ทั้งสองฝั่งเช่นเคย


7.ประกอบสวิตช์ใส่คืนคีย์บอร์ด

ประกอบอะไหล่ทุกชิ้นของสวิตช์กลับคืน ในขั้นตอนนี้คนที่ต้องการเสียงกดที่แน่นขึ้นสามารถซื้อฟิล์มสำหรับสวิตช์มาวางใส่ตรง Bottom Housing ได้ (แนะนำร้าน Big penguin) จากนั้นวางสปริงใส่ลงแกน Bottom Housing และวาง Stem ลงบนสปริง เอา Top Housing ประกบ กดปิดฝาลงล็อก จากนั้นก็เอาสวิตช์ไปใส่คีย์บอร์ดและเอาคีย์แคปมาสวมคืนก็เป็นอันจบภารกิจสุดน่าภาคภูมิใจแล้ว เย้!

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img