วิธีเลือกแผ่นรองเมาส์ Speed, Control คืออะไร ขนาด วัสดุ?

แผ่นรองเมาส์สำคัญยังไง

แม้เมาส์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะสามารถใช้งานบนโต๊ะหรือพื้นผิวทั่วไปได้เลยโดยไม่ต้องมีแผ่นรองเมาส์ แต่แผ่นรองเมาส์ก็ยังคงสำคัญทั้งในแง่ช่วยยืดอายุการใช้งาน ถนอมฟีทใต้เมาส์ให้ไม่สึกหรอไวเกินไปจนเกิดอาการลากเมาส์ไม่ไป และถ้าคุณคือเกมเมอร์หรือคนทำงานที่อาศัยความแม่นยำ เช่น กราฟิกดีไซน์เนอร์ ก็ควรเลือกแผ่นรองเมาส์ที่เหมาะกับการใช้งาน โดยหลักก็จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ แผ่นรองเมาส์ Speed และ แผ่นรองเมาส์ Control บทความนี้จะพาไปเจาะลึกวิธีเลือกแผ่นรองเมาส์แบบละเอียดว่าก่อนซื้อ Mouse Pad สักตัวควรดูอะไรบ้าง


ประเภทแผ่นรองเมาส์

แผ่นรองเมาส์ทั่วไปอาจจะไม่ได้มีอะไรหวือหวาแค่พอใช้งานได้ แต่หากเป็นแผ่นรองเมาส์เกรดเกมมิ่งจะแบ่งชนิดตามการใช้งานออกเป็นหลัก 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ แผ่นรองเมาส์ Speed และแผ่นรองเมาส์ Control ซึ่งบางตำราอาจมีแยกออกมาเป็นแผ่นรองเมาส์ Hybrid ที่เป็นลูกผสมระหว่าง 2 ประเภทดังกล่าวอีกด้วย นอกจากนี้แผ่นรองเมาส์เกมมิ่งจะมีคุณภาพวัสดุ การตัดเย็บและการทำลวดลายที่ดีกว่าแผ่นรองเมาส์ทั่วไป แต่ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง แต่เดิมมักจำแนกว่าแผ่นรองเมาส์ Speed ต้องมีพื้นผิวเรียบเนียนลื่น ส่วนแผ่นรองเมาส์ Control จะมีผิวขรุขระ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันไม่สามารถใช้เกณฑ์นี้ได้แล้ว เนื่องจากบางครั้งพื้นผิวเรียบก็ออกแบบมาสำหรับสายคอนโทรลและผิวขรุขระที่เน้นความไวก็มีให้เห็นได้ทั่วไปแล้ว


แผ่นรองเมาส์ Speed

แผ่นรองเมาส์ประเภทนี้ออกแบบมาโดยเน้นความไวในการกวาดเมาส์เป็นหลักแต่อาจจะไม่แม่นยำนัก เหมาะสำหรับเล่นเกมประเภท MOBA เช่น Dota2, League of Legends และ Heroes of the Storm ที่ต้องลากเมาส์หาศัตรู สำรวจแผนที่จากมุมหนึ่งไปยังอีกมุมอย่างรวดเร็ว หรือเกมแนว FPS ที่เน้นการ Tracking อย่างรวดเร็วแต่ไม่ต้องแม่นยำมากอย่าง Overwatch 2 แผ่นรองเมาส์ประเภทนี้จะมีค่า Static friction หรือค่าแรงต้านในช่วงตลอดเวลาที่เราขยับเมาส์ และ Dynamic friction หรือแรงในการออกตัวเมาส์ที่อยู่นิ่งในระดับที่ต่ำ อย่างไรก็ดี แผ่นรองเมาส์ Speed หลายรุ่นก็ออกแบบมาให้สามารถหยุดเมาส์ได้อย่างแม่นยำเช่นกัน ทำให้นำไปเล่นเกม FPS ได้ โดยเฉพาะกับเกมเมอร์สายสะบัดเมาส์ยิง

แผ่นรองเมาส์ Speed แนะนำ


แผ่นรองเมาส์ Control

แผ่นรองเมาส์ประเภทนี้ออกแบบมาโดยเน้นการควบคุมอย่างแม่นยำเป็นหลักแต่จะกวาดเมาส์ได้ไม่เร็วเท่ากับแผ่นรองเมาส์ Speed เหมาะกับเกมที่อาศัยความละเอียดในการเล็งยิงอย่างเกม FPS ช้า ๆ เช่น เช่น Counter-Strike 2 และ Valorant นอกจากนี้ยังเหมาะกับคนทำงานสายออกแบบที่ต้องขยับแต่ละพิกเซลอย่างแม่นยำ การใช้แผ่นรองเมาส์ Control ก็จะช่วยให้งานของคุณง่ายขึ้น โดยแผ่นรองเมาส์ประเภทนี้จะมีค่า Static friction หรือค่าแรงต้านในช่วงตลอดเวลาที่เราขยับเมาส์ และ Dynamic friction หรือแรงในการออกตัวเมาส์ที่อยู่นิ่งในระดับที่สูง

แผ่นรองเมาส์ Control แนะนำ

อ่านบทความ 5 แผ่นรองเมาส์ Speed และ Control ลื่นไหล แม่นยำ

อ่านบทความ 30 คำศัพท์เมาส์เกมมิ่ง LOD, Hump, Static friction ฯลฯ คืออะไร


เทคนิคการใช้เมาส์ให้เหมาะกับแผ่นรองเมาส์

ผู้ใช้บางคนที่รู้สึกว่าแผ่นรองเมาส์ Speed มันลื่นเกินไปก็อาจเลือกใช้เมาส์ที่มีน้ำหนักพอสมควรเพื่อให้การควบคุมสมดุลมากขึ้นได้ กลับกันหากแผ่นรองเมาส์ Control ฝืดเกินไปก็สามารถเลือกใช้เมาส์น้ำหนักเบาเพื่อให้การควบคุมลื่นไหลขึ้นได้เช่นกัน นอกจากนี้ แผ่นรองเมาส์แต่ละประเภทไม่ได้จำกัดว่าต้องเล่นกับเกม MOBA หรือ FPS เท่านั้นเพราะสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่ที่ความถนัดของแต่ละบุคคลมากกว่า


เลือกดีไซน์และขนาดที่ใช่

หลังจากตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกใช้แผ่นรองเมาส์ Speed หรือ Control สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือดีไซน์และขนาด เพราะแผ่นรองเมาส์คือสิ่งที่จะอยู่คู่โต๊ะเด่นเป็นสง่าให้เราเห็นหน้าทุกวันก็ต้องเลือกให้สวยถูกใจสักหน่อย และยังช่วยเสริมให้โต๊ะคอมสวยขึ้นน่านั่งทำงานมากขึ้นด้วย นอกจากนี้หลายรุ่นก็จะมีหลายขนาดให้เลือกด้วย เช่น สี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบกะทัดรัดพอดีเมาส์ และสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวอลังเต็มโต๊ะวางได้ทั้งคีย์บอร์ดและเมาส์ โดยควรเลือกให้เหมาะกับขนาดโต๊ะและสไตล์การใช้งาน เช่น หากถนัดใช้เมาส์ช้าต้องกวาดมือกว้างกว่าปกติก็ต้องใช้แผ่นรองเมาส์ที่ใหญ่หน่อย โดยข้อดีอีกอย่างของแผ่นรองเมาส์ขนาดใหญ่ก็คือช่วยลดการเจ็บข้อมือจากการวางมือลงบนโต๊ะตรง ๆ ได้ และแก้ปัญหากวาดเมาส์ตกขอบเพราะมีพื้นที่ในการขยับเมาส์มากขึ้น ไซซ์ของแผ่นรองเมาส์ค่อนข้างมีให้เลือกหลากหลายเหมือนไซซ์เสื้อ แต่ละยี่ห้อก็มักทำมาในขนาดกว้าง x ยาวไม่เท่ากันจึงควรดูรายละเอียดที่แต่ละแบรนด์ระบุให้ชัดเจนก่อนสั่งซื้อ

ตัวอย่างขนาดแผ่นรองเมาส์แบรนด์ Artisan

  • ไซซ์ S จะเป็นขนาด 24 x 21 x 0.4 cm
  • ไซซ์ M จะเป็นขนาด 31 x 24 x 0.4 cm
  • ไซซ์ L จะเป็นขนาด 42 x 33 x 0.4 cm
  • ไซซ์ XL จะเป็นขนาด 49 x 42 x 0.4 cm

วัสดุพื้นผิวและฐานรอง

วิธีเลือกแผ่นรองเมาส์

วัสดุที่ใช้ในการผลิตแผ่นรองเมาส์ก็สำคัญ แบ่งออกเป็นวัสดุของพื้นผิวด้านบนและฐานรองด้านล่างซึ่งมักทำจากยางเพื่อช่วยให้แผ่นรองเมาส์เกาะโต๊ะไม่ขยับเขยื้อนขณะใช้งาน โดยวัสดุพื้นผิวที่มักพบบ่อยก็เช่น ผ้า, พลาสติก, อะลูมิเนียม, กระจก หรือบางครั้งก็จะใช้เป็นยางทั้งผืนหรือทำจากกำมะหยี่ (มักพบในแผ่นรองเมาส์ราคาถูก)

แผ่นรองเมาส์ผ้า

เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีดีไซน์ให้เลือกหลาย และเก็บรักษาได้ง่ายเนื่องจากสามารถม้วนเก็บลงกล่องหรือถุงได้ มีความหนานุ่มสบายมือ โดยมักจะหนาอยู่ที่หลัก 3-4 มิลลิเมตร เส้นใยผ้าแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติและความโดดเด่นต่างกัน บ้างมีความหยาบสากบ้างก็เรียบเนียน แต่เมื่อสกปรกแล้วอาจต้องเช็ดหรือซักอย่างระมัดระวังหน่อย อย่างไรก็ดี หากเป็นแผ่นรองเมาส์คุณภาพดีและทำความสะอาดถูกวิธีมันก็จะอยู่กับเราอย่างยาวนานเลยแหละ

อ่านบทความ วิธีซักแผ่นรองเมาส์ง่าย ๆ ใครก็ทำตามได้

แผ่นรองเมาส์พลาสติก

แผ่นรองเมาส์ประเภทนี้จะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานและทำความสะอาดง่ายเพราะหากเปรอะเปื้อนก็สามารถใช้ทิชชู่ชุบน้ำเช็ดออกได้ไม่ยาก ผิวสัมผัสมีความสาก หากใช้งานไปนาน ๆ อาจรู้สึกเจ็บข้อมือได้จากความแข็งของเนื้อพลาสติก

แผ่นรองเมาส์อะลูมิเนียม

เป็นแผ่นรองเมาส์ที่ผิวสัมผัสเรียบลื่น ค่อนข้างมีน้ำหนักทำให้เกาะโต๊ะดี ทำความสะอาดง่ายไม่แพ้แผ่นรองเมาส์พลาสติกแต่เนื่องจากเป็นโลหะจึงให้ความรู้สึกหรูหราราคาแพงกว่า (ซึ่งก็แพงกว่าจริง ๆ)

แผ่นรองเมาส์กระจก

เป็นแผ่นรองเมาส์ที่ทำมาจากกระจกนิรภัยมีความเรียบเนียนและลื่นสูงมาก นิยมในหมู่นักแข่งสายสะมัดเมาส์ยิงแต่เกมเมอร์ทั่วไปอาจใช้งานยากและต้องใช้เวลาฝึกฝนพอสมควร มีความเรียบหรูสวยงาม แต่ก็เปราะบางเสี่ยงต่อการทำตกแตกง่ายต้องใช้งานอย่างระมัดระวัง

ฐานรองยางธรรมชาติ vs ยางสังเคราะห์

ยางเป็นวัสดุฐานรองที่ช่วยให้แผ่นรองเมาส์ยึดเกาะกับโต๊ะและยังให้สัมผัสนุ่มนิ่มระหว่างใช้งาน โดยแผ่นรองเมาส์ส่วนใหญ่จะใช้ฐานรองจากยางธรรมชาติเนื่องจากคุณภาพดีและต้นทุนไม่สูงมาก แต่แผ่นรองเมาส์บางรุ่นก็จะใช้เป็นยางสังเคราะห์ที่มีความทนทานมากกว่า เช่น Polyurethanes ที่นอกจากทนทานแล้วยังช่วยให้สามารถเย็บขอบแผ่นรองเมาส์ทั้งผืนได้ต่ำกว่าพื้นผิว ซึ่งทำให้ไม่รู้สึกเจ็บข้อมือระหว่างใช้งานอีกด้วย


แผ่นรองเมาส์ Coated และ Uncoated

สำหรับแผ่นรองเมาส์ผ้ามีอีกสิ่งที่ควรรู้ซึ่งก็คือการใช้สารเคลือบพื้นผิว โดยแผ่นรองเมาส์เกมมิ่งยุคก่อนหน้านี้จะนิยมใช้สารเคลือบพื้นผิวเรียกว่า Coated เพื่อทำให้ผิวผ้ามีความเรียบเนียนใช้งานได้ลื่นมือมากขึ้น อย่างไรก็ดีมันมีข้อเสียตรงที่หากใช้ไปนาน ๆ หรือเมื่อนำไปซักสารเคลือบจะทยอยหลุดลอกจนทำให้แผ่นรองเมาส์ไม่เรียบเนียนสม่ำเสมอมีอาการเมาส์ฝืด นอกจากนี้แผ่นรองเมาส์ Coated ยังอ่อนไหวต่อความชื้นและอุณหภูมิ หากใช้งานในห้องแอร์ความเร็วของแผ่นรองเมาส์จะสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่หากใช้ในห้องที่อากาศร้อนก็จะฝืดลงอย่างชัดเจนเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแผ่นรองเมาส์แบบไร้สารเคลือบพื้นผิวหรือ Uncoated ที่ถักทอจากเส้นใยผ้าที่สามารถออกแบบให้เรียบเนียนหรือสากได้ดั่งใจ ไร้ปัญหาที่กล่าวไปทั้งหมดมากวนใจ ฉะนั้น ถ้างบถึงผู้เขียนแนะนำให้ใช้แผ่นรองเมาส์ชนิด Uncoated ก็จะดีที่สุด


ฟีเจอร์พิเศษ

แม้จะยังไม่แพร่หลายนักแต่แผ่นรองเมาส์บางรุ่นก็จะมาพร้อมฟีเจอร์พิเศษ เช่น ระบบการชาร์จไร้สายที่สามารถชาร์จแบตให้กับเมาส์ไร้สายที่กำลังใช้งานอยู่ได้ตลอดเวลา เช่น แผ่นรองเมาส์ Powerplay ของ Logitech หรือแผ่นรองเมาส์ที่มาพร้อมขอบไฟ RGB วิบวับกระแทกตาอย่าง Razer Strider Chroma เป็นต้น

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img