Table of Contents
รวมคำศัพท์เมาส์เกมมิ่ง ข้อความทางเทคนิคและคำอธิบายเกี่ยวกับสเปคเมาส์เกมมิ่ง รวมถึงข้อความที่มักอยู่ในวงสนทนาของวงการคนเล่นเมาส์และแผ่นรองเมาส์ที่มีตั้งแต่พื้นฐาน เช่น DPI, Polling rate ยันระดับมืออาชีพ เช่น LOD, Hump, Static friction เป็นต้น
คำศัพท์เมาส์เกมมิ่ง
- LOD ย่อมาจาก Lift Off Distance หมายถึงระยะความสูงที่เซนเซอร์เมาส์จะหยุดทำงานตอนยกเมาส์ขึ้นจากแผ่นรองเมาส์ ส่วนใหญ่จะสามารถตั้งค่าได้อยู่ที่ 1-3 มม
- DPI ย่อมาจาก Dots per inch หมายถึงค่าความไวของเมาส์ (sensitivity) ยิ่งปรับค่า DPI สูงเคอร์เซอร์เมาส์ยิ่งขยับเร็วแม้จะขยับมือเพียงนิดเดียว กลับกันหากปรับ DPI ต่ำเคอร์เซอร์จะยิ่งช้า แต่ก็จะได้ความแม่นยำกลับมาแทน
- Polling rate หรือ Report rate คืออัตราความถี่การอัปเดตข้อมูลเมาส์ไปยังคอมพิวเตอร์ใน 1 วินาที มีหน่วยเป็นเฮิร์ต โดยมาตรฐานเมาส์เกมมิ่งจะมีค่านี้อยู่ที่ 1000Hz หรือหมายถึง 1 วินาทีจะมีการอัปเดตข้อมูล 1000 ครั้ง แต่หากเป็นเมาส์ทั่วไปอาจมี Polling rate อยู่ที่ 125Hz เท่านั้น ยิ่งมีค่านี้สูงยิ่งหมายถึงเมาส์จะยิ่งควบคุมได้แม่นยำมากขึ้น ดีเลย์น้อยลง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการสูบพลังงานที่มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
- Sensor คือตัวตรวจจับการเคลื่อนไหวของเมาส์ ยี่ห้อยอดนิยมและเป็นรายใหญ่ในตลาดคือ PixArt โดยรหัสเซนเซอร์ที่มักพบบ่อยคือ PMW กับ PAW ตามด้วยตัวเลขอีก 4 หลัก ยิ่งตัวเลขเยอะยิ่งใหม่ ยิ่งประสิทธิภาพดีกว่าตัวเก่า เช่น PAW 3395 โดย PAW หมายถึงเซนเซอร์ประหยัดพลังงานมักอยู่ในเมาส์ไร้สาย และ PMW คือเซนเซอร์ตัวปกติที่ใช้พลังงานแบบเต็มรูปแบบมักพบในเมาส์แบบเสียบสาย
- Angle Snapping คือฟีเจอร์ที่ช่วยให้การลากเมาส์เป็นเส้นตรงนิ่งและตรงมากขึ้น มีประโยชน์ในการทำงานด้านตัดต่อ งานกราฟิกที่ต้องวาดเส้นตรงให้แม่นยำสวยงาม
- Ripple Control คือฟีเจอร์ที่ช่วยให้การลากเมาส์นิ่งมากขึ้น โดยเซนเซอร์จะช่วยตัดการขยับเมาส์ที่ไม่ตั้งใจออกไป เช่น อาการสั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างลากเมาส์เล็งปืนในเกม ทำให้การควบคุมแม่นยำขึ้น
- Motion sync คือฟีเจอร์ที่เข้ามาช่วยให้การขยับเมาส์มีความแม่นยำมากขึ้น เพราะตามหลักการแล้วแม้เมาส์จะระบุค่า Polling rate มา เช่น 1000Hz ซึ่งหมายถึงมีการอัปเดตข้อมูลการขยับเมาส์ 1000 ครั้งต่อวินาทีหรือทุก ๆ 1ms แต่ความจริงแล้วความถี่ของการส่งข้อมูลอาจมีดีเลย์ขึ้น ๆ ลง ๆ บ้างทำให้การควบคุมเมาส์ขาดตอน Motion sync จึงเข้ามาช่วยส่วนนี้
- Macro คือการตั้งค่าให้ปุ่มปุ่มหนึ่งบนเมาส์กลายเป็นปุ่มอื่น ๆ หรือเป็นคำสั่งตามที่เราต้องการ เช่น ตั้งค่าปุ่มด้านข้างเมาส์ให้กลายเป็นปุ่มปรับเสียง, เรียกแอปเล่นเพลง, ตั้งให้กลายเป็นปุ่มดับเบิ้ลคลิก และอื่น ๆ ตามที่เราใช้งานบ่อยได้เลย
- Programmable Buttons เป็นข้อมูลสเปคที่บอกว่าเมาส์ตัวนั้น ๆ รองรับการตั้งค่าปุ่มให้เป็นปุ่มหรือคำสั่งอื่น ๆ ได้ทั้งหมดกี่ปุ่ม โดยจะมีบางปุ่มที่เมาส์ล็อกไว้ เช่น ปุ่มเลือกโหมดการเชื่อมต่อ เป็นต้น
- Ambi / Ambidextrous / Symmetrical หมายถึงเมาส์ทรงสมมาตรหรือจะเรียกว่าทรงบาลานซ์ก็ได้ สื่อถึงการออกแบบเมาส์ที่ทั้ง 2 ด้านซ้ายขวาจะมีรูปทรง ความโค้งเว้า เท่ากันทั้ง 2 ฝั่ง เป็นเมาส์ที่ใช้งานได้ทั้งมือซ้ายและมือขวา แต่สำหรับคนใช้งานเมาส์มือซ้ายอาจเจอข้อจำกัดเรื่องไม่สามารถใช้งานปุ่มข้างเมาส์ได้ เพราะเมาส์ส่วนใหญ่จะใส่ปุ่มมาโครมาเฉพาะด้านซ้ายเป็นหลัก
- Ergo / Ergonomic / Right hand mouse หมายถึงเมาส์ที่ออกแบบตามหลักสรีระศาสตร์ของมือขวา หรือจะเรียกว่าเมาส์มือขวาก็ได้ รูปทรงและความโค้งเว้าของเมาส์ 2 ฝั่งจะไม่เท่ากันเพื่อให้เมาส์รับเข้ากับนิ้วโป้งและอุ้งมือได้พอดีจะได้ใช้งานได้ยาวนานไม่เมื่อยง่าย แต่ข้อสังเกตคือสรีระมือของแต่ละคนไม่เท่ากัน ฉะนั้น เมาส์ Ergo บางตัวอาจไม่เข้ามือเราก็ได้
- Mouse Skates / Feet หรือฟีทเมาส์ คือวัสดุที่ติดเอาไว้ใต้เมาส์ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณหัวกับท้ายเมาส์ หรือบางรุ่นอาจติดฟีทมาให้รอบเซนเซอร์ด้วย หน้าที่ของมันก็คือลดแรงเสียดทานระหว่างเมาส์กับแผ่นรองเมาส์เพื่อให้การใช้งานเมาส์ลื่นขึ้นนั่นเอง โดยฟีทเดิม ๆ ที่ติดมากับเมาส์จากโรงงานจะเรียกว่า Stock Feet มีวัสดุหลากหลายประเภท ที่นิยมที่สุดคือ PTFE ซึ่งจะมีทั้งแบบผสมวัสดุอื่นเพื่อลดต้นทุน (และมักจะย้อมสีเพื่อความสวยงาม) กับแบบ PTFE 100% ซึ่งมีสีขาวขุ่นตามธรรมชาติและให้ความลื่นมากกว่าแบบผสม เมาส์เกมมิ่งดี ๆ มักจะมาพร้อม Stock Feet แบบ PTFE 100% อยู่แล้ว แต่ถ้ายังลื่นไม่พอก็ยังมีตัวเลือกฟีทอื่น ๆ ให้เลือกซื้อมาเปลี่ยนได้ เช่น ฟีทกระจกและฟีทเซรามิก เป็นต้น
- Weight หมายถึงน้ำหนักเมาส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อ และส่วนใหญ่แบรนด์จะแข่งกันทำเมาส์น้ำหนักเบาออกมา พร้อมแปะป้ายว่านี่คือ lightweight mouse หรือเมาส์เบ๊าเบา แต่ความจริงต้องดูดี ๆ ว่าเมาส์ตัวนั้นหนักกี่กรัม สำหรับเราแนะนำว่าควรต่ำกว่า 60 กรัมลงมาถึงจะเรียกว่าเมาส์เบา เพราะปัจจุบันเมาส์ที่หนักแค่ 39 กรัมก็มีให้เห็นแล้ว (เช่น Ninjutso Sora V2) แต่บางแบรนด์ทำเมาส์ออกมาหนักถึง 80 กรัมแต่ยังแปะป้ายว่าเมาส์เบาก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ
- Mouse Grip คือวิธีจับเมาส์หรือท่าจับเมาส์ 3 แบบ ได้แก่ Palm Grip, Claw Grip และ Fingertip Grip สามารถอ่านคำอธิบายเพิ่มเติมได้ที่บทความวิธีจับเมาส์ 3 แบบต่างกันยังไง (อัปเดต 2024)
- On-Board Memory หมายถึงหน่วยความจำภายใน เมาส์ที่มี On-Board Memory จะสามารถบันทึกการตั้งค่าต่าง ๆ เช่น มาโคร, DPI, ไฟ RGB, การตั้งค่าปุ่มรวมถึง Setting อื่น ๆ ไว้กับเมาส์ได้ และเมื่อนำไปเชื่อมต่อกับคอมเครื่องอื่นก็ไม่ต้องเริ่มตั้งค่าใหม่
- Click response time คือการตั้งค่าความหน่วงของปุ่มคลิก เมาส์บางรุ่น เช่น Zowie C Series จะมีตัวเลือกให้ปรับระหว่างความไวปกติ (Normal Response Time) กับความไวมากกว่าปกติ (Fast Response Time) มีประโยชน์สำหรับเกมบางประเภท เช่น เกม FPS ขณะเล่นเป็นสไนเปอร์ที่ต้องอาศัยความไวกว่าเดิมเมื่อกดซูมลำกล้อง เป็นต้น
- Dimension หมายถึงมิติความยาวกว้างสูงของเมาส์ สามารถเทียบขนาดเมาส์แต่ละรุ่นก่อนตัดสินใจซื้อได้ที่ eloshapes.com
- Hump คือส่วนที่ยกสูงขึ้นมาเป็นพิเศษบริเวณฝาเมาส์ (Cover, Shell) แบ่งเป็น Middle hump กับ Back hump คือยกสูงบริเวณกลางกับท้ายเมาส์ตามลำดับ
- Scroll Encoder คือเซนเซอร์ตรวจจับระยะการหมุนของ Scroll wheel ที่เห็นบ่อยก็จะเป็นยี่ห้อ F-Switch
- Tri-mode หมายถึงเมาส์รุ่นนั้น ๆ รองรับการเชื่อมต่อ 3 รูปแบบคือ เสียบสาย (มักเป็น Type-A to Type-C), ไร้สาย Wireless 2.4 GHz และ Bluetooth
- Dual-mode หมายถึงเมาส์รุ่นนั้น ๆ รองรับการเชื่อมต่อ 2 รูปแบบคือ เสียบสาย (มักเป็น Type-A to Type-C) และไร้สาย Wireless 2.4 GHz
- Wired หมายถึงเมาส์รุ่นนั้น ๆ รองรับการเชื่อมต่อแค่แบบเสียบสายเท่านั้นและสายจะไม่สามารถออกได้เหมือนกับรุ่น Tri-mode หรือ Dual-mode
คำศัพท์แผ่นรองเมาส์
- Static friction คือค่าแรงเสียดทานสถิตหรือแปลง่าย ๆ คือแรงต้านที่เกิดขึ้นระหว่างผิวสัมผัสของเมาส์ (ฟีทเมาส์) กับแผ่นรองเมาส์ขณะกวาดเมาส์ แผ่นรองเมาส์ที่มีค่า Static friction ต่ำจะใช้แรงขยับเมาส์น้อย ตรงข้ามถ้าแผ่นรองเมาส์มีค่า Static friction สูงก็จะต้องใช้แรงขยับเมาส์มากกว่า
- Dynamic friction หรือ Kinetic friction (แรงเสียดทานจลน์) คือค่าแรงเสียดทานระหว่างเมาส์ (ฟีทเมาส์) กับแผ่นรองเมาส์ขณะออกตัวหรือขยับเมาส์ที่วางอยู่นิ่ง ถ้าค่านี้ต่ำก็จะออกแรงน้อย ถ้าค่านี้สูงก็จะออกแรงมากกว่า คล้ายแรงออกตัวเหยียบคันเร่งรถขณะจอดติดไฟแดงนั่นเอง
- Stopping power คือแรงหยุดเมาส์ขณะจังหวะสะบัดเมาส์ (Flicking) แล้วหยุดเมาส์ทันที จะพบค่านี้สูงในแผ่นรองเมาส์ที่มีความเร็วต่ำ (เช่น ผิวหยาบ สาก) หรือแผ่นรองเมาส์ที่เสื่อมสภาพจนมีความฝืดแล้ว
- Micro adjustments คือค่าการควบคุมเมาส์ในระยะแคบ ๆ อย่างเช่น การเล็งยิงเป้าหมายในเกม FPS ที่อยู่ไกลมาก ๆ จำเป็นต้องขยับเมาส์แค่เสี้ยวมิลลิเมตรเพื่อไม่ให้พลาดเป้า แผ่นรองเมาส์ที่มีค่านี้สูงมักจะมีผิวหยาบสาก มีแสงเสียดทานสูง
- แผ่นรองเมาส์ Speed คือแผ่นรองเมาส์ที่มีความเร็วสูง มักมี Static friction และ Dynamic friction ต่ำ
- แผ่นรองเมาส์ Control คือแผ่นรองเมาส์ที่มีความเร็วต่ำ มักมี Static friction และ Dynamic friction สูง
- ความหยาบสากไม่มีผลต่อความเร็ว เพราะปัจจุบันแผ่นรองเมาส์ Speed ก็มีบางรุ่นที่ผิวหยาบสาก และแผ่นรองเมาส์ Control บางรุ่นก็มีผิวเรียบเนียนเช่นกัน จึงไม่อาจแยกประเภทความเร็วแผ่นรองเมาส์จากความหยาบสากได้
- Hybrid Pad มักจะเป็นคำเอาไว้เรียกแผ่นรองเมาส์ Speed ที่มีผิวหยาบสากมาก ๆ ฟิลลิ่งการใช้งานจะคล้ายแผ่นรองเมาส์ที่ผลิตจากพลาสติก ตัวอย่างแผ่นรองเมาส์ประเภทนี้ เช่น Artisan Hien / Aqua Control 2 / Odin Infinity เป็นต้น
- แผ่นรองเมาส์ Coated หมายถึงแผ่นรองเมาส์ที่เคลือบสารเคลือบพื้นผิวเพื่อให้เกิดความเนียนและลื่นไหล แต่เมื่อใช้ไปนาน ๆ หรือนำไปซักทำความสะอาดจะทำให้สารเคลือบหลุดลอกและความเรียบเนียนก็จะค่อย ๆ ลดลงและไม่สม่ำเสมอทั่วทั้งแผ่น นอกจากนี้สารเคลือบจะอ่อนไหวต่ออุณหภูมิห้องเมื่อใช้งานในห้องแอร์ผิวจะลื่นขึ้นกว่าปกติ กลับกันเมื่อใช้ในห้องที่มีความร้อนแผ่นรองเมาส์ก็จะฝืดกว่าปกติ
- แผ่นรองเมาส์ Uncoated คือแผ่นรองเมาส์ที่ไม่เคลือบสารใด ๆ แต่ผลิตจากวัสดุอย่างดีที่เหมือนกันทั่วทั้งแผ่น ทำให้มีอายุการใช้งานยาวนาน เมื่อนำไปซักผิวสัมผัสก็จะไม่เปลี่ยนแปลงหรือมีการสึกหรอน้อยมาก และจะไม่อ่อนไหวกับอุณหภูมิเหมือนกับตัว Coated
ขอบคุณข้อมูลจาก micemod.gg, zowie.benq.com, fantechworld.com, sapphireskates.com, gloriousgaming.com