Table of Contents
ประกอบคัสตอมคีย์บอร์ด?
คัสตอมคีย์บอร์ด (Custom keyboard) คือแมคคานิคอลคีย์บอร์ดที่สามารถปรับแต่งได้ โดยมีทั้งแบบพรีบิลท์ที่แบรนด์ประกอบมาให้สำเร็จแล้ว ซึ่งปัจจุบันหลายรุ่นรองรับ Hot-swap ทำให้สับเปลี่ยนอะไหล่ได้ง่ายเพื่อให้ได้ตรงรสนิยมที่ชอบ สัมผัสการกดที่ใช่ เสียงจรดปลายนิ้วที่พึงพอใจโดยไม่ต้องบัดกรี หรือจะเลือกอะไหล่แต่ละชิ้นและเริ่มประกอบเองจากศูนย์ก็ได้ โดยบทความนี้ผู้เขียนขออาสาเขียนตำราคัสตอมคีย์บอร์ด 101 ให้มือใหม่เข้าใจเบื้องต้นว่าหากจะเริ่มประกอบคัสตอมคีย์บอร์ดต้องเลือกซื้ออะไหล่อะไรบ้าง แต่ละชนิดแตกต่างกันยังไง อ่านจบไม่รอดต้องปากระเป๋าเหมาของมาบิลด์คีย์บอร์ดเองแน่นอน!
เลือก Case ขนาดที่ใช่ ดีไซน์ และวัสดุที่ชอบ
สิ่งแรกที่ควรใส่ใจก่อนเริ่มไปสรรหาอะไหล่ชิ้นอื่นคือเคส เพราะมันมีผลทั้งด้านความสวยงาม เสียงการพิมพ์ รวมถึงสัมผัสการกดปุ่มที่ได้ เป็นตัวกำหนดโครงสร้างหลักของคีย์บอร์ด โดยอาจเริ่มจากเลือกไซซ์ ด้วยวิธีตอบคำถามตัวเองว่าต้องการคีย์บอร์ดเพื่อใช้งานด้านไหน หากนำไปเล่นเกมเป็นหลักก็นิยมขนาด 65% หรือหากใช้ทำงานทั่วไปต้องใช้ Numpad ทำงานกราฟิกต้องใช้คีย์ลัดเยอะ ๆ ก็อาจเลือกเป็นขนาด 100%
จากนั้นค่อยไปต่อด้านดีไซน์ว่าชอบสีสัน รูปทรงแบบไหน ซึ่งอาจดูชนิดของวัสดุไปพร้อม ๆ กัน โดยหลักจะนิยมเป็นพลาสติกและอลูมิเนียม โดยเคสพลาสติกจะให้เสียงที่แหลมและก้องกว่า สัมผัสการพิมพ์นิ่มและราคาถูกกว่า ขณะที่อลูมิเนียมจะให้เสียงที่แน่น สัมผัสการพิมพ์แข็ง มีความทนทาน น้ำหนักมาก ดูพรีเมี่ยม แต่จะราคาสูงกว่า นอกจากนี้ยังมีวัสดุเคสที่ได้รับความนิยมรองลงมา เช่น อะคริลิกที่แสงไฟ RGB ทะลุผ่านได้ดี หรือเคสไม้ที่แปลกแหวกแนวไปอีกแบบ
ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงรูปแบบการประกอบด้วยว่าเราต้องการวางโครงแบบไหน และเคสรองรับหรือไม่ ที่นิยมก็จะเป็น Gasket Mount ที่ไม่ใช้น็อตยึด PCB แต่ใช้วิธีเอาเพลทมาประกบ รองยาง Gasket และใช้เคสบนล่างหนีบแทน ให้สัมผัสนุ่ม เสียงเงียบทั่วทุกปุ่มแต่ก็จะราคาสูงหน่อย หรือที่พบบ่อยในพรีบิวต์ทั่วไปก็จะเป็น Tray Mount ซึ่งใช้น็อตไขยึดแผง PCB เข้ากลางเคสโดยตรง เนื่องจากราคาถูกที่สุดแต่แลกด้วยเสียงและการสัมผัสที่ไม่เท่ากันทั่วทั้งคีย์บอร์ดนั่นเอง
สรุปวิธีเลือกเคส
- เลือกไซซ์คีย์บอร์ดที่ต้องการ เช่น 65%
- เลือกดีไซน์และวัสดุที่ชอบ เช่น อลูมิเนียม
- รองรับ Mounting หรือการติดตั้ง PCB และเพลทแบบที่เราชอบหรือไม่ เช่น Gasket Mount
เลือก PCB ที่ฟีเจอร์ และเข้ากับเคสได้
PCB หรือแผงวงจรคือหัวใจให้คีย์บอร์ดใช้การได้ โดยเราต้องเลือกขนาด PCB ที่ไซซ์เดียวกับเคส เช่น เคส 65% แผง PCB ก็ต้อง 65% ดูฟีเจอร์ที่ต้องการ รองรับการเชื่อมต่อผ่านพอร์ตอะไร เช่น USB Type-C (นิยมมากที่สุด) หรือ Micro USB วางพอร์ตไว้ฝั่งไหนตรงกับรูของเคสหรือไม่ เพราะถ้าพอร์ตอยู่ด้านขวาแต่ช่องเคสอยู่ด้านซ้ายก็จะใช้การไม่ได้ รองรับการใช้งานไร้สายผ่าน Bluetooth หรือ Wireless ไหม เกมเมอร์สายวิบวับอาจต้องการไฟ RGB ก็สามารถเลือก PCB ที่ใส่ไฟ RGB มาให้ด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้ควรดูด้วยว่า PCB รองรับ Hot-swap แบบไหนบ้าง 3 หรือ 5 pin ทางที่ดีควรรองรับทั้งสองแบบในตัวเดียวเลย และตำแหน่งการวางสวิตช์ของ PCB ยังเกี่ยวข้องกับเลย์เอาท์ของคีย์แคปอีกด้วย สามารถเลือกได้ว่าชอบรูปแบบคีย์แบบ ANSI (อเมริกา) หรือ ISO (ยุโรป) โดยปัจจุบันจะนิยมแบบ ANSI เสียเป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้ ถ้าอยากได้ออปชั่นเสริมอย่าง Knob หรือจอ TFT จิ๋วก็ต้องหา PCB ที่รองรับด้วยเช่นกัน เอ้อ! อย่าลืมหาซื้อสาย USB มาใช้เชื่อมต่อคอมฯ หลังประกอบเสร็จด้วยนะ!
สรุปวิธีเลือก PCB
- ไซซ์เท่ากับเคสหรือไม่ ถ้าเคส 65% PCB ก็ต้อง 65%
- ใช้พอร์ตการเชื่อมต่อที่ต้องการหรือไม่ เช่น USB Type-C
- ตำแหน่งพอร์ต USB ตรงกับช่องของเคสหรือไม่
- รองรับการใช้งานไร้สายหรือเปล่า
- มีฟีเจอร์อะไรบ้าง เช่น ไฟ RGB, รองรับ Knob และจอ TFT ไหม
- รองรับ Hot-Swap แบบ 3 หรือ 5 pin
- วางเลย์เอาท์แบบ ISO หรือ ANSI (ANSI เป็นที่นิยมกว่า)
เลือกเพลทจากสัมผัสที่ชอบ เสียงที่ใช่
เพลท (Plate) คือชิ้นส่วนที่เอาไว้ครอบเพื่อจับสวิตช์ให้ตรงกับแผง PCB เป็นอะไหล่ที่คอยรับน้ำหนักการกด วัสดุที่เลือกจึงมีผลต่อสัมผัสนุ่มแข็งและระดับความแน่นของเสียง โดยเพลทโลหะจะให้สัมผัสที่แข็งและเสียงแน่นกว่าเพลทแบบพลาสติก ทั้งนี้ เพลทโลหะยังมีวัสดุให้เลือกอีกหลายแบบ เช่น สแตนเลส, อลูมิเนียม และทองเหลือง ฯลฯ โดยนอกจากวัสดุที่เราต้องเลือกจับจ่ายใช้สอยแล้ว เพลทก็เป็นอีกชิ้นส่วนที่จำเป็นต้องเข้ากันได้กับเลย์เอาท์ของ PCB และมีไซซ์ตรงกับเคสและ PCB อีกด้วย
เมื่อเคส PCB และเพลทเป็นชิ้นส่วนที่ต้องเข้ากันได้แบบเป๊ะ ๆ จึงอาจเป็นเรื่องชวนปวดหัวสำหรับนักประกอบคัสตอมคีย์บอร์ดหน้าใหม่ให้มานั่งงง จึงมีบางแบรนด์ที่มัดรวมแพ็คของสามชิ้นมาวางขายเป็น Base kit หรือ Barebones ให้เลือกซื้อกันง่าย ๆ เอาเวลาไปเลือกแค่สวิตช์และคีย์แคปต่อก็พอ
สรุปวิธีเลือกเพลท
- เลือกเพลทให้ขนาดและเลย์เอาท์ตรงกับเคสและ PCB
- เลือกวัสดุเพลท โดยพลาสติกจะให้สัมผัสอ่อนนุ่ม ขณะที่โลหะจะสัมผัสแข็งและเสียงแน่นกว่า
- มี Base kit ที่มัดรวมเคส PCB และเพลทที่เข้ากันได้วางขาย เพื่อให้เลือกซื้อง่าย
สวิตช์ พระเอกแห่งคัสตอมคีย์บอร์ด
เพราะจุดเด่นของคัสตอมคีย์บอร์ดคือการอนุญาตให้ผู้ใช้เลือกเสียงและสัมผัสการกดที่ตรงรสนิยมมากที่สุด ซึ่งสวิตช์นับเป็นตัวกำหนดฟีลลิ่งหลักของคีย์บอร์ด แค่เปลี่ยนปุ๊บฟีลเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที จึงไม่ผิดนักหากจะยกบทพระเอกในเรื่อง “คัสตอมคีย์บอร์ด” ให้กับมัน โดยสวิตช์จะมีทั้งหมด 3 ประเภทหลักได้แก่ Red switch (Linear), Brown switch (Tactile) และ Blue switch (Clicky Switch) เรียงลำดับตามน้ำหนักการกดจากน้อยไปมาก รวมถึงเสียงจากเบายันหนวกหูกริ๊ก ๆ แบบฉบับเสียงคลิกของสวิตช์ Clicky ทั้งนี้ Linear จะเป็นสวิตช์กดจังหวะเดียว ขณะที่ Tactile และ Clicky จะเป็นสวิตช์สองจังหวะทำให้มีแรงต้านเล็กน้อยเมื่อกดปุ่ม โดยนอกจากการเลือกเสียงและสัมผัสที่ชอบแล้วอย่าลืมดูด้วยนะว่า PCB ของคุณรองรับสวิตช์แบบ 3 หรือ 5 pin จะได้เลือกซื้อสวิตช์ที่มีจำนวนขาตรงกัน
อนึ่ง ความแตกต่างของสวิตช์ 3 กับ 5 pin อยู่ที่จำนวนขาด้านใต้ ซึ่งปกติสวิตช์จะมีขาทองแดง 2 ขาและขาที่เป็นแกนกลางอีกหนึ่งขารวมเป็นสามขา เรียกว่า 3 pin แต่สำหรับ 5 pin จะมีขาพลาสติกเพิ่มมาอีก 2 อันเพื่อให้ติดตั้งสวิตช์ลง PCB ได้แน่นหนามากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ PCB ที่รองรับ 5 pin ก็จะรองรับ 3 pin ในตัวด้วย และหากเชี่ยวชาญแล้วนักม็อดบางคนก็สามารถใช้คีมตัดขาพลาสติก 2 อันของสวิตช์ 5 pin ออกเพื่อนำสวิตช์นั้นไปใส่กับ PCB 3 pin ได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากสวิตช์สามสีหลักแล้วยังมีสวิตช์สีอื่น ๆ อีกมากมายที่หลายแบรนด์เข็นกันออกมา เช่น White switch, Yellow switch หรืออาจตั้งชื่อแปลกไปเลยว่า Cha-Thai switch (แบรนด์ LOGA) ก็มี แต่แก่นของมันก็ยังคงถูกจัดไว้เป็น Linear, Tactile หรือ Clicky เพียงแต่อาจมีเสียงและน้ำหนักการกดยิบย่อยต่างกันไปเล็กน้อย
สรุปวิธีเลือกสวิตช์
- เลือกสัมผัสการกดที่ชอบ (เบา/กลาง/หนัก)
- เลือกจังหวะการกดที่ชอบ (หนึ่ง/สองจังหวะ)
- เลือกเสียงการกดที่ชอบ (เงียบ/กลาง/ดัง)
- PCB ที่ใช้รองรับสวิตช์กี่ pin (3/5 pin)
คีย์แคป หน้าตาแห่งคัสตอมคีย์บอร์ด
นอกจากเคสแล้ว คีย์แคปก็เป็นอีกชิ้นส่วนที่นับเป็นหน้าตาของคีย์บอร์ด เพราะสิ่งแรกที่เด่นทิ่มตาในระยะร้อยหลาก็คือเจ้านี่นี่แหละ โดยนอกจากความสวยงามที่บ่งบอกเทสต์แฟชั่นของผู้ใช้ วัสดุของคีย์แคปยังมีผลต่อผิวสัมผัสและเสียงการกดอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเทคนิคการพิมพ์ฟอนต์ เช่น Dye-Sub ที่พิมพ์สีซึมลงไปในเนื้อพลาสติก คงทนแต่อาจไม่คมชัดมาก หรือ Doubleshot ที่ใช้วิธีหล่อพลาสติก 2 ชั้น 2 สีเอามาประกอบกันให้เกิดเป็นตัวอักษรซึ่งคมชัดและคงทนมาก แต่ราคาก็แรงขึ้นตามด้วย นอกจากนี้คีย์แคปบางตัวมีการยิงเลเซอร์ไฟลอด ไฟทะลุเห็นตัวอักษรเรืองแสงถูกใจเกมเมอร์สายไฟ RGB แน่นอน
วัสดุหลักที่มักใช้ทำคีย์แคปคือพลาสติกซึ่งนิยมอยู่ 2 แบบคือ ABS และ PBT ที่มีข้อดีข้อเสียต่างกันดังนี้
- ABS มีสีสันให้เลือกเยอะ ยืดหยุ่นแตกหักยาก แต่เมื่อใช้ไปนาน ๆ จะมีความขึ้นเงา และเมื่อโดนแดดแล้วจะเหลืองง่าย
- PBT สัมผัสแข็ง เสียงแน่น ผิวด้านไม่เป็นเงา แต่ยืดหยุ่นน้อยไม่ทนการกระแทก หากพกใส่กระเป๋าไปกระแทกอะไรอาจมีแตกหักได้
สรุปวิธีเลือกคีย์แคป
- เลือกจากดีไซน์ที่ชอบ
- เลือกจากวัสดุที่ใช้ทำคีย์แคป เช่น พลาสติก ABS หรือ PBT
- เลือกจากวิธีการทำฟอนต์ เช่น Dye-Sub หรือ Doubleshot
- มีการยิงเลเซอร์ไฟลอดให้หรือไม่
ทั้งหมดเป็นเพียงข้อมูลพอให้เห็นภาพรวมของวิธีการเลือกชิ้นส่วนเบื้องต้นเพื่อให้สามารถไปต่อยอดประกอบคัสตอมคีย์บอร์ดได้ง่ายขึ้นเท่านั้น เพราะนอกจากนี้ยังมีข้อมูลลึก ๆ อย่างเช่น สาย USB Cable แต่ละประเภท, Stabilizer สำหรับคีย์แคปบางปุ่ม เช่น Spacebar หรือการคัสตอมเพิ่มเติม เช่น การลูปสวิตช์ ให้สนุกสนานกันอีกเยอะ วงการนี้น่ะเข้ายาก แต่ออกยากกว่า แต่ถ้าจะเข้ามาก็อย่าลืมกดติดตามเพจ Freshz กันด้วยล่ะ เดี๋ยวมีเทคนิค ข้อมูลดี ๆ ให้อ่านกันอีกเพียบ